โรงพยาบาลธนบุรี

โรคกระเพาะอาหารกับเชื้อแบคทีเรีย เอชไพโลไร(H.pylori)

ผู้เขียน

รพ.ธนบุรี

 

โรคกระเพาะอาหารที่เรียกกันแพร่หลายจนติดปากนั้น ทางการแพทย์จะหมายถึง โรคแผลเปปติค (Peptic Ulcer) ซึ่งจะเกิดเป็นแผลบริเวณกระเพาะอาหารโดยตรง หรือเกิดเป็นแผลที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้นซึ่งอยู่ติดกับกระเพาะอาหาร โดย 80%ของผู้ป่วยส่วนใหญ่จะประสบปัญหาการเป็นๆ หายๆ คือหลังจากการรักษาแผลให้หายแล้วก็มักจะกลับมาเป็นแผลอีกเรื่อยๆ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ในอดีตมีความเชื่อว่าโรคกระเพาะเป็นผลมาจากการที่กระเพาะอาหารมีกรดมาก หรือเยื่อบุกระเพาะอาหารไม่แข็งแรงแต่เพียงอย่างเดียว ในปัจจุบันพบว่ามีสาเหตุสำคัญมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ “เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร” หรือ เอช.ไพโลไร (Helicobacter Pylori or H. Pylori) คุณรู้ไหมว่า? การเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารมีความสัมพันธ์กับการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย H.Pylori นั่นเอง

 

แบคทีเรียร้ายในกระเพาะอาหาร โดยปกติแล้วกระเพาะอาหารจะมีสภาพที่เป็นกรดอย่างแรง ซึ่งจะทำหน้าที่ทำลายแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียส่วนใหญ่ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่เนื่องจากเชื้อ H.Pylori มีลักษณะพิเศษที่สำคัญคือ สามารถสร้างด่างมาหักล้างกับกรด ทำให้เชื้อนี้สามารถอยู่และเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เป็นกรดอย่างแรงในกระเพาะอาหารได้ จากการศึกษาวิจัยเชื้อ H.Pylori เป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหาร และเป็นสาเหตุที่สำคัญอันหนึ่งของโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่งในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเพิ่มขึ้น 6-40 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีการติดเชื้อ และมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น 2-6 เท่า เมื่อเทียบกับคนปกติและไม่มีการติดเชื้อ

 

อาการของโรคกระเพาะ
ส่วนใหญ่มีอาการปวดท้องบริเวณยอดอก หรือ ใต้ลิ้นปี่ โดยมีประวัติเป็นเรื้อรังมานาน โดยสุขภาพทั่วไปจะไม่ทรุดโทรม ผู้ป่วยบางรายมีอาการ จุก เสียด แน่น เจ็บ แสบ หรือร้อน โดยอาการจะสัมพันธ์กับการกินอาหาร หรือ ชนิดของอาหารที่กิน เช่น อาจปวดมากตอนหิว หลังอาหารอาการจะทุเลา แต่ผู้ป่วยบางคนอาการปวดเป็นมากขึ้นหลังอาหาร โดยเฉพาะอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เป็นต้น บางรายอาจมีอาการปวดท้องตอนกลางคืน ดังนั้นจึงควรตรวจหาเชื้อแบคทีเรียนี้ก่อนที่จะมีอาการ เพราะแบคทีเรียจะทำลายกระเพาะอยู่นาน กว่าจะมีอาการ

 

ติดต่อกันอย่างไร?
สันนิษฐานกันว่าการถ่ายทอดของเชื้อเกิดจากคนสู่คน โดยผ่านทางการกินอาหารร่วมกับผู้ป่วย เชื้อแบคทีเรีย H.Pyloriดังกล่าว เข้าสู่ร่างกายตั้งแต่ยังเด็ก เมื่ออายุมากขึ้นจะมีความชุกของการติดเชื้อนี้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้พบว่ามีการระบาดค่อนข้างสูงในชุมชนที่อยู่แออัดในครอบครัวหรือสถาบันเดียวกัน

 

วิธีที่นิยมในตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย H.Pylori ในกระเพาะอาหาร ได้แก่.-
1. การตรวจเลือด (Serology Test)
2. การตรวจลมหายใจ (Urea Breath Test) โดยเป่าลมหายใจและวัดหาระดับยูเรีย
3. ตรวจปัสสาวะ (Urine Test) ซึ่งมีข้อดีเหนือกว่า 2 ข้อแรก โดยมี Overall Agreement Rate เท่ากับ 98.4% เมื่อเทียบกับวิธีการตรวจแบบเดิม
และยังมีการตรวจหาได้โดยวิธีส่องกล้องตัดชิ้นเนื้อ หรือตรวจอุจจาระได้อีกด้วย

 

การรักษาเพื่อกำจัดเชื้อ
ในปัจจุบันแนวทางการรักษาทั่วไปแนะนำให้ตรวจหาเชื้อ H.Pylori ในผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารทุกราย และให้การรักษาเพื่อการกำจัดเชื้อ H.Pylori ด้วยเสมอ ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อร่วมด้วย ไม่ว่าจะเพิ่งเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นเป็นครั้งแรก หรือเคยเป็นๆ หายๆ การรักษาที่นิยมใช้กันมากและมีประสิทธิภาพสูง ประกอบด้วยการใช้ยาลดการหลั่งกรด 1 ชนิดร่วมกับยาปฏิชีวนะอีก 2 ชนิด เป็นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ พบว่าได้ผลการกำจัดเชื้อมากกว่า 90% ข้อบ่งชี้ว่ากำจัดเชื้อได้ คือ การตรวจไม่พบเชื้่อ H.Pylori เป็นเวลา 4 สัปดาห์หลังจากหยุดการรักษา

 

ข้อดีของการกำจัดเชื้อ
พบว่าหลังจากที่กำจัดเชื้อได้แล้ว โอกาสที่จะกลับมาเป็นแผลในกระเพาะอาหารซ้ำอีกลดลงไปอย่างมาก (จาก 80% ใน 1 ปี ลดลงเหลือไม่เกิน 10% ใน 1 ปี) และมีโอกาสหายขาด ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องทุกข์ทรมาน สามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาลงไปได้อย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องรักษาอยู่เรื่อยๆ และยังลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

 

ข้อควรปฏิบัติ
โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น มักเป็นโรคเรื้อรัง เมื่อรักษาแผลหายแล้วยังมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก ถ้าไม่ระวัง รักษา หรือปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ดังนี้.-
•กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย
•กินอาหารตรงตามเวลาทุกมื้อ
•กินอาหารจำนวนน้อยๆ แต่บ่อย ไม่ควรกินจนอิ่มในแต่ละมื้อ
•หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของดอง น้ำอัดลม
•งดบุหรี่ และงดดื่มสุรา
•งดการให้ยาแอสไพรินและยาแก้ปวดข้อ ปวดกระดูกทุกชนิด (NSAID)
•ผ่อนคลายความเครียดและวิตกกังวลทั้งหลาย
•ควรพักผ่อนให้เพียงพอ
ถ้ามีอาการของภาวะแทรกซ้อน เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ ปวดท้องรุนแรง หรือ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก ควรรีบไปหาแพทย์

 

ต้องการตรวจหาเชื้อ หรือสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ รพ.ธนบุรี

รพ.ธนบุรี ที่พึ่งทุกสุขภาพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โทร. 02-487-2000 ต่อ 2372