โรงพยาบาลธนบุรี

ลูกนอนกรน อันตรายกว่าแค่เสียงกรน

ผู้เขียน

พญ.ณภัทร ว่องวัฒนวิกรม

กุมารแพทย์โรคระบบการหายใจ

 

เสียงหายใจแรงขณะหลับ เสียงกรน เฮือกหายใจ หยุดหายใจ เป็นอาการแสดงที่บ่งบอกว่า เด็กมีการหายใจที่ผิดปกติขณะหลับ โดยเฉพาะอาการที่เป็นมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง

หากกลไกการนอนหลับของเด็กผิดปกติ ซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับการพัฒนาทางระบบประสาท ความทรงจำ สติปัญญา สมาธิ  ระบบฮอร์โมน ระบบหัวใจ การเจริญเติบโตของร่างกาย และจะมีผลกระทบตามมาต่อร่างกายได้อีกด้วย ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้หากทิ้งไว้เป็นเวลานาน เช่น โรคสมาธิสั้น ปัญหาพฤติกรรมไม่จดจ่อ โรคความดันหลอดเลือดในปอดสูงจากการขาดออกซิเจนเรื้อรัง ซึ่งมีอาการนำ คือ การออกแรงแล้วเหนื่อย ออกแรงมากมีอาการเขียว นิ้วบุ้ม เล็บเขียวได้ เป็นต้น

 

สาเหตุของโรคการหายใจผิดปกติขณะหลับที่พบบ่อยในเด็กทั่วไป ดังนี้.-

1.ต่อมทอนซิล และ/หรือ ต่อมอะดีนอยด์โต และขวางกั้นแรงไหลอากาศ เกิดเป็นเสียงกรน เสียงหายใจแรง หรือไม่มีอากาศผ่านได้จนหยุดหายใจ

2.เยื่อบุทางเดินหายใจบวมจากโรคกลุ่มภูมิแพ้ เช่น จมูกอักเสบภูมิแพ้

3.ภาวะโรคอ้วนจากชั้นไขมันกดทับทางเดินหายใจ หรือน้ำหนักเกินจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

 

การรักษา จากสาเหตุที่พบบ่อย คือ ต่อมทอนซิล และ/หรือ ต่อมอะดีนอยด์โต

  • รักษาได้ด้วยยาพ่นสเตียรอยด์ซึ่งออกฤทธิ์เฉพาะที่ หากตอบสนองต่อยาดีในระยะ 4-6 สัปดาห์ ไม่จำเป็นต้องส่งผ่าตัดทุกราย และการปรับยาโดยแพทย์ตามอาการที่ติดตาม หากติดตามและไม่ดีขึ้นจำเป็นที่ต้องส่งตรวจเพิ่มเติมความรุนแรงการหยุดหายใจขณะหลับ ก่อนการพิจารณาผ่าตัดต่อไป
  • โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ รักษาตามระดับความรุนแรงของโรค และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ในผู้ป่วยที่คุมอาการได้ยาก การตรวจเพิ่มเติมทางระบบภูมิคุ้มกัน คือ มองหาสารกระตุ้นภูมิแพ้ มีส่วนช่วยต่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
  • โรคอ้วน คำแนะนำสำคัญ คือการควบคุมและลดน้ำหนัก ด้วยความรู้ทางโภชนาการ การออกกำลังกาย และ การรักษาตามระดับความรุนแรงของการหยุดหายใจ ด้วยเครื่องช่วยหายใจหน้ากากแรงดันบวก เช่น เครื่อง CPAP BIPAP ใส่ขณะนอนหลับ เพื่อปรับแรงไหลอากาศที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยหายใจได้เป็นปกติ

ทั้งนี้เด็กที่ป่วยอาจมีสาเหตุซ่อนมากกว่า 1 สาเหตุ หรือ มีสาเหตุการหายใจผิดปกติขณะหลับที่ต้องการการตรวจเพิ่มเติมไม่เหมือนกันทุกราย ดังนั้นการมาพบแพทย์ เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกาย และวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยก่อนการพิจารณาส่งตรวจเพิ่มเติมในผู้ป่วยแต่ละรายจึงเป็นสิ่งสำคัญ

 

 

การตรวจคลื่นการนอนหลับ หรือ Sleep Test เป็นการตรวจที่เป็นมาตรฐานต่อการวินิจฉัย บอกระดับความรุนแรงของปัญหาการหายใจ ลักษณะ คลื่นสมองขณะหลับที่เกิดปัญหา คลื่นการตื่น คุณภาพการนอนหลับ การขยับกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ แนวโน้มระดับออกซิเจนและก๊าซของเสีย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อไปต่อการวางแผนแนวทางการรักษาที่เหมาะสม

 

ตรวจการนอนหลับสำหรับเด็ก

https://www.thonburihospital.com/?post_type=examination_program&p=996998&preview=true

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์โรค ไอ-หอบ-กรน ในเด็ก รพ.ธนบุรี   โทร. 02-487-2000 ต่อ 7270 , 7271