โรงพยาบาลธนบุรี

หอบในเด็ก

ผู้เขียน

พญ.ณภัทร ว่องวัฒนวิกรม

กุมารแพทย์โรคระบบการหายใจ

อาการหอบในเด็ก เป็นอาการหายใจลำบากและเป็นอันตรายถึงชีวิต
ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หากมีอาการดังนี้.-
• หายใจเร็วตื้น หรือ หายใจหอบลึก
• ปลายมือ ปลายเท้า หรือ ริมฝีปากเขียว
• แน่นหน้าอกคล้ายสูดหายใจเข้าไม่ได้
• ทรวงอกบุ๋ม

 

สาเหตุอาการหอบในเด็ก เกิดจาก…

• จากระบบหายใจ เช่น

• หลอดลมผิดปกติ ก็เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น หลอดลมไว , หอบหืด , หลอดลมฝอยบวมอักเสบจากการติดเชื้อ , หลอดลมตีบ, หลอดลมอุดกั้น
• ถุงลมปอดผิดปกติ เช่น ปอดติดเชื้อ
• เนื้อเยื่อปอดผิดปกติ เช่น โรคเนื้อเยื่อปอดผิดปกติ
• ของเหลวในช่องเยื่อหุ้มปอด เช่น จากการติดเชื้อ

• จากระบบอื่นๆ เช่น

• น้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับภาวะเลือดเป็นกรด มักเกิดในเด็กที่เป็นเบาหวาน
• โรคหัวใจ โรคไต และภาวะน้ำเกินในร่างกาย

 

 

อาการหายใจหอบจากเสียงหายใจวี๊ด

เสียงวี๊ดนี้จะถูกตรวจพบได้จากการฟังของแพทย์ ซึ่งเกิดจากอากาศไหลผ่านหลอดลมที่แคบ ทำให้อากาศไหลวนและเกิดเป็นเสียง บ่งบอกถึงอาการหอบมาจากปัญหาที่หลอดลม เมื่ออากาศไหลผ่านได้น้อยออกซิเจนและการแลกเปลี่ยนก๊าซของเสียได้ลดลง จึงกระตุ้นให้ร่างกายเพิ่มการหายใจ โดยจะแสดงอาการหายใจเร็ว กล้ามเนื้อมัดเล็กออกแรงช่วยหายใจเพิ่มจึงทำให้สังเกตเห็นทรวงอกบุ๋ม และเมื่ออากาศเข้าไม่เพียงพอ จะมีอาการเขียวจากการขาดออกซิเจน และหมดสติจากก๊าซของเสียสะสมมากในร่างกาย การตรวจร่างกายโดยแพทย์จะช่วยประเมินเสียงหายใจวี๊ด

 

สาเหตุอาการหายใจเสียงวี๊ดในเด็กเล็กที่พบบ่อย ได้แก่.-

• หลอดลมฝอยบวมอักเสบจากการติดเชื้อ พบบ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี จากการติดเชื้อไวรัส มีอาการไข้หวัดนำมาก่อน และหายใจเหนื่อยมากขึ้น หลอมลมฝอยในเด็กเล็กยังมีขนาดเล็ก และผนังบวมอักเสบจากกลไกการติดเชื้อ มีเสมหะอยู่ภายใน ทำให้อากาศเข้าได้ยากหรือออกได้ยาก การพ่นยาเพื่อขยายหลอดลมอาจตอบสนองได้บางส่วน โดยการช่วยขับระบายเสมหะด้วยวิธีที่เหมาะสมมีส่วนช่วยได้มาก การได้ยาสเตียรอยด์กินหรือฉีดไม่ได้มีข้อบ่งชี้ในการรักษา ในผู้ป่วยบางรายอาจมีการหดเกร็งของหลอมลมฝอยร่วมด้วยจากกลไกกระตุ้นของไวรัสบางชนิด ทำให้อาการหอบเหนื่อยเป็นมากขึ้น ธรรมชาติของโรคจะดีขึ้นเมื่อขับระบายเสมหะได้ดี และเยื่อบุทางเดินหายใจยุบบวม ทั้งนี้ควรได้รับการตรวจประเมินเพิ่มเติมโดยแพทย์เฉพาะทางและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมในผู้ป่วยรายนั้นต่อไป

• ภาวะหลอดลมไว เมื่อหลอดลมได้รับการกระตุ้น เช่น การติดเชื้อจะมีอาการหดเกร็งทำให้หลอดลมแคบลงและอากาศผ่านได้ยาก การพ่นยาเพื่อขยายหลอดลมมักตอบสนองดีชั่วคราว สาเหตุอาการหดเกร็งมีกลไกที่ซับซ้อนต้องอาศัยการรักษาด้วยยาชนิดอื่นๆ ทั้งชนิดยาสูดพ่น และให้ยาทางเส้นเลือด เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยาลดการหดเกร็งกล้ามเนื้อหลอดลม เป็นต้น. อาการหลอดลมไวที่พบบ่อยในเด็กเล็กยังวินิจฉัยได้ไม่แน่ชัด ต้องติดตามใกล้ชิดเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคหอบหืดต่อไป(แต่มักพบว่ามีประวัติหอบหายใจเสียงวี๊ดและตอบสนองต่อยาพ่นเพื่อขยายหลอดลมเกิน 3 ครั้งในชีวิต หรือเสียงวี๊ดที่มีการหายใจเหนื่อยรุนแรง)

• สาเหตุอื่นที่ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมโดยแพทย์เฉพาะทาง คือ เสียงหายใจวี๊ดเฉพาะตำแหน่ง (เช่น วัณโรคในหลอดลม วัตถุแปลกปลอม โครงสร้างหลอดลมผิดปกติแต่กำเนิด) เสียงวี๊ดขนาดใหญ่ที่อาจมีพยาธิสภาพที่หลอดลมใหญ่ (เช่น หลอดลมใหญ่ตีบแคบแต่กำเนิดหรือหลังการใส่ท่อช่วยหายใจ หลอดเลือดใหญ่ในทรวงอกกดทับ)

 

สาเหตุการหายใจเหนื่อยหอบที่ไม่เกิดจากเสียงวี๊ด ที่พบบ่อยในเด็ก

• ปอดติดเชื้อ บริเวณถุงลมเกิดการอักเสบ
• หลอดลมโป่งพอง เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือวัณโรค ทำให้หลอดลมเสียสภาพถาวร ขับระบายเสมหะได้ยากและไอเรื้อรัง
• ปอดแฟบ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น สำลักวัตถุแปลกปลอม เสมหะอุดตัน หลอดลมถูกกดเบียดจากต่อมน้ำเหลืองโต หรือก้อนในทรวงอก
• ของเหลวในเยื่อหุ้มปอดติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อน
• หลอดเลือดปอดอุดตัน มักหายใจเหนื่อยและเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน หรือมีอาการเขียวร่วมด้วย สาเหตุเช่น ก้อนเลือดอุดตัน ก้อนการติดเชื้ออุดตันในบริเวณหลอดเลือด

 

จะเห็นได้ว่าสาเหตุอาการหอบที่พบบ่อยในเด็กมีหลากหลาย โดยในแต่ละภาวะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น อาการหอบในเด็กควรได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและตรวจประเมินสาเหตุที่แท้จริง โรคหอบหืดในเด็กปัจจุบันมีแนวทางการวินิจฉัยและรักษาที่ชัดเจน ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับการตรวจประเมินโดยแพทย์และให้การรักษาที่เหมาะสม

 

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์โรค ไอ-หอบ-กรน ในเด็ก รพ.ธนบุรี   โทร. 02-487-2000 ต่อ 7270 , 7271