มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic Ductal Adenocarcinoma)
มะเร็งตับอ่อน พบได้ไม่บ่อยแต่มีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก เนื่องจากผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการ ปวดท้อง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือตัวเหลือง และส่วนใหญ่ก้อนมะเร็งที่ตรวจพบมักมีขนาดใหญ่หรือมีการแพร่กระจายไปแล้ว มีผลให้คนไข้ 80-85% อยู่ในระยะที่ไม่สามารถผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้ และคนไข้มักจะเสียชีวิตใน 1 ปี หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม สาเหตุของมะเร็งตับอ่อนยังไม่ชัดเจน มีรายงานความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับอ่อนพบว่าคนสูบบุหรี่มีความเสี่ยงมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ประมาณ 1.6 - 3.1 เท่า , บริโภคอาหารที่มีไขมันสัตว์ในปริมาณที่สูง , การสัมผัสสาร DDT หรืออนุพันธ์ของปิโตรเลียมล้วนมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น สำหรับรังสีรักษา หรือยาเคมีบำบัดอาจเพิ่มความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โรคเบาหวาน , ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง หรือความผิดปกติทางพันธุกรรมอาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งตับอ่อนเพียงเล็กน้อย
ตับอ่อนเป็นอวัยวะที่อยู่หลังเยื่อบุช่องท้องในระดับเดียวกับกระดูกสันหลัง L1 - L2 และถูกห้อมล้อมด้วยอวัยวะต่างๆ ได้แก่ กระเพาะอาหาร ตับ ไต ม้าม และลำไส้เล็ก ทำให้ก้อนมักจะขยายไปทางด้านหลัง และลุกลามไปยังเส้นเลือดรวมถึงอวัยวะใกล้เคียงได้ ซึ่งการลุกลามไปยังเส้นเลือดและอวัยวะใกล้เคียงที่สำคัญจะบ่งชี้ถึงความรุนแรงและระยะของโรค
การวินิจฉัย
การตรวจวินิจฉัยให้ได้ตั้งแต่ระยะแรกจะช่วยเพิ่มอัตราการอยู่รอดชีวิตของผู้ป่วยได้ การวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนระยะเริ่มต้นค่อนข้างยาก เนื่องจากผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นมักมีอาการไม่ชัดเจน ประกอบกับแพทย์ผู้ดูแลเบื้องต้นอาจไม่ได้นึกถึง ทำให้ไม่ได้ส่งตรวจเพิ่มเติม ส่วนการตรวจเพิ่มเติมที่ทำเป็นปกติคือการตรวจอัลตราซาวด์หน้าท้อง บางครั้งก็ให้รายละเอียดไม่ชัดเจน เกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย ดังนั้นการตรวจที่สำคัญและจำเป็นคือ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(CT-Scan) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า( MRI) แต่บางครั้งรอยโรคขนาดเล็กอาจตรวจไม่พบ และมีข้อจำกัดในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง รวมทั้งไม่สามารถเอาชิ้นเนื้อออกมาตรวจได้ในเวลาเดียวกัน
ปัจจุบันนี้มีวิธีการตรวจวินิจฉัยแบบใหม่ที่ไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งขั้นตอนการตรวจไม่ยุ่งยาก และคล้ายกับการตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหาร นั่นคือการตรวจส่องกล้องอัลตราซาวด์ (Endoscopic Ultrasonography หรือ EUS) ซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากกล้องทั่วไปคือมีเครื่องอัลตราซาวด์ขนาดเล็กติดที่ปลายกล้อง ทำให้สามารถเห็นอวัยวะในช่องท้องนอกกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นได้ดีโดยเฉพาะอวัยวะที่อยู่ช่องท้องด้านหลังคือ ตับอ่อนและทางเดินน้ำดี และภาพมักชัดเจนกว่าการตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์หน้าท้องแบบปกติ ( Ultrasound abdomen) การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(CT-Scan) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) นอกจากนี้ยังมีข้อได้เปรียบคือสามารถใช้เข็มขนาดเล็กใส่ผ่านกล้องเจาะดูดเอาชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยได้ในเวลาเดียวกัน รวมทั้งไม่จำเป็นต้องอาศัยการฉีดสารทึบแสงเข้ากระแสเลือดเหมือนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(CT-Scan)หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า(MRI) ช่วยในการวินิจฉัยเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อการทำงานของไตอีกด้วย
การเตรียมตัวก่อนตรวจ
1.งดเครื่องดื่มและอาหารทุกชนิด 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ
2.ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวสามารถรับประทานยาได้ตามแผนการรักษาของแพทย์ ยกเว้นยาเบาหวาน(งดเช้าวันตรวจ) ยาละลายลิ่มเลือดงดตามคำสั่งแพทย์ก่อนส่องกล้อง
3.กรณีส่องกล้อง เจาะดูดเอาชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัย อาจต้องนอนโรงพยาบาลอย่างน้อย1วันเพื่อสังเกตอาการ
4.กรุณาพาญาติมาด้วย 1 ท่าน
5. ก่อนถึงวันนัดตรวจอย่างน้อย 1 วัน พยาบาลให้คำแนะนำ ทบทวนการเตรียมตัวและยืนยันการนัดหมายอีกครั้งทางโทรศัพท์
ขั้นตอนระหว่างการตรวจ
1. รับการตรวจประเมินสัญญาณชีพ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง
2. เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย ถอดฟันปลอม(ถ้ามี)
3. อาจมีการเจาะเลือด หรือให้น้ำเกลือ ขึ้นกับแผนการรักษาของแพทย์
4. วิสัญญีแพทย์ให้คำแนะนำและประเมินความพร้อมก่อนเข้าห้องส่องกล้อง
5. ระยะเวลาในการส่องกล้องประมาณ 30-60 นาที
การดูแลหลังการตรวจ
1.เมื่อส่องกล้องเสร็จ ท่านจะได้รับการดูแลในห้องพักฟื้นประมาณ 1 ชั่วโมงจนปลอดภัยดี
2.แพทย์แจ้งผลตรวจเบื้องต้นกับท่านและญาติ ส่วนผลชิ้นเนื้อที่เจาะดูดออกไปตรวจใช้เวลารอผลประมาณ 3 วันทำการ
3.พยาบาลประเมินความพร้อมตามเกณฑ์ความปลอดภัยหลังส่องกล้องก่อนย้ายไปหอผู้ป่วยหรือ กลับบ้านได้
สิ่งที่ผู้ป่วยต้องรู้หรือปฎิบัติหลังการตรวจ
1.ในวันแรกอาจรู้สึกเจ็บคอเล็กน้อยสามารถบรรเทาด้วยยาอม
2.อาจมีเลือดออกบริเวณที่ทำการเจาะดูดชิ้นเนื้อไปตรวจ แต่ในปริมาณเพียงเล็กน้อย ไม่ได้มีผลกระทบใดๆกับผู้ป่วย
3 ก่อนกลับบ้านท่านจะได้รับคำแนะนำการสังเกตอาการผิดปกติและการนัดหมายมาตรวจซ้ำ รวมทั้งการโทรเยี่ยมหลังส่องกล้อง 1 วัน
“ตัดชิ้นเนื้อเพื่อพิสูจน์ โดยไม่ต้องผ่าตัด”
ศูนย์อัลตร้าซาวด์ติดกล้องส่องทางเดินอาหาร รพ.ธนบุรี
รพ.ธนบุรี ที่พึ่งทุกสุขภาพ
โดย.....นพ.วรายุ ปรัชญกุล