การบำบัดด้วยออกซิเจนแรงดันบรรยากาศสูง

การบำบัดด้วยออกซิเจนแรงดันบรรยากาศสูง

     ออกซิเจนบำบัดด้วยแรงดันสูง (HBO : Hyperbaric Oxygen Therapy) เป็นการรักษาแบบทางเลือกที่นำมาใช้ผสมผสานเข้ากับการรักษาแบบเดิม มีความปลอดภัยสูง และให้ผลการรักษาที่เป็นที่น่าพึงพอใจในระยะเวลาที่สั้นลง โดยใช้ทฤษฎีทางสรีรวิทยาในการเพิ่มปริมาณออกซิเจน 100% ให้กับเซลล์ที่ระดับแรงดัน 1.3 บรรยากาศ (ata) ส่งผลให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายเกิดการตื่นตัวและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เซลล์ต่างๆ ในร่างกายได้รับออกซิเจนสูงกว่าการให้ออกซิเจนตามปกติหลายเท่าจนสามารถช่วยให้สมองทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งโดยปกติจะไม่พบปรากฏการณ์ดังกล่าวในการหายใจเอาออกซิเจนเข้าปอดที่ชั้นบรรยากาศธรรมดาซึ่งมีออกซิเจนปะปนอยู่เพียง 21% โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ต่างๆ และทำงานได้ดีขึ้น เพราะออกซิเจนสามารถละลายในเลือดแดงและพลาสม่าสูงขึ้น ทำให้ส่งออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ได้ทั่วถึงมากกว่าเมื่อเทียบกับในภาวะปกติ ให้ประโยชน์ในด้านการช่วยสร้างคอลลาเจน ผ่านการกระตุ้นและการแบ่งตัวของเซลล์อ่อนในร่างกาย ทำให้เกิดการสร้างเส้นเลือดฝอยเพิ่มมากขึ้น สะดวกต่อการขนส่งออกซิเจนเข้าสู่เซลล์ และยังจะช่วยเพิ่มสเต็มเซลล์ในร่างกาย (Mobilizing Stem Cells) โดยออกซิเจนบริสุทธิ์ภายใต้แรงดันสูงจะกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนย้ายของเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cells) ออกจากไขกระดูกนำไปในใช้การสร้างเส้นเลือดใหม่ (Neovascularization) เพื่อไปหล่อเลี้ยงอวัยวะในส่วนที่ต้องการเลือดในการทำงานสูง เช่น เซลล์สมอง เป็นต้น

 

การบำบัดที่มีงานวิจัยอ้างอิง

     การเข้าบำบัดในแคปซูลแรงดันสูง แรงดันในแคปซูลจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น ร่างกายจะพยายามปรับตัวเข้ากับแรงดัน โดยผู้เข้ารับการบำบัดจะรู้สึกตึงๆ ภายในช่องหูคล้ายกับเวลาขึ้นลิฟท์สูงๆ หรือ เครื่องบิน เพราะแรงดันที่เพิ่มขึ้นจะทำให้อากาศในหูชั้นกลางมีขนาดที่ลดลงทำให้เยื่อแก้วหูถูกดึงรั้งจนอาจเกิดการบาดเจ็บได้ ถ้าปรับแรงดันอากาศที่หูชั้นกลางไม่ถูกวิธี อีกทั้งจะรู้สึกว่าอากาศภายในแคปซูลอุ่นขึ้นเล็กน้อย มีเสียงไหลของอากาศเบาๆ หลังจากแคปซูลปรับแรงดันจนถึงระดับความดันที่แพทย์กำหนดใช้ในการรักษาแล้ว ร่างกายผู้รับบริการจะสามารถทำงานได้ปกติคงเดิม หากช่วงปรับแรงดันนั้น ผู้รับบริการสามารถปรับแรงดันในช่องหูได้ เพื่อลดภาวะกดเยื่อแก้วหูด้วยวิธีการดังนี้

  • การปิดปาก ปิดจมูก และกลืนน้ำลาย
  • การปิดปาก ปิดจมูก พร้อมการเบ่งลม
  • การกลืนน้ำลาย
  • การขยับขากรรไกร ขึ้น–ลง
  • การหาว
  • การจิบน้ำ

** หากระหว่างการเพิ่มแรงดัน ผู้เข้ารับการบำบัดรู้สึกผิดปกติ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อหยุดการเพิ่มแรงดันได้ **

 

คำแนะนำ

  • การปรับแรงดันในช่องหู ควรฝึกให้คล่องก่อนเข้าแคปซูลเพื่อรับการรักษา
  • การปรับแรงดันควรทำเป็นจังหวะอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องรอให้รู้สึกตึงที่หูก่อนแล้วค่อยทำ
  • หากรู้สึกว่าการปรับแรงดันในช่องหูค่อนข้างลำบาก ให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อหยุดการเพิ่มแรงดัน
  • วิธีการการปรับแรงดันด้วยวิธีการเบ่งลม ไม่ควรแรงจนเกินไป เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อในหูชั้นในฉีกขาดได้

 

การดูแลตนเองก่อนเข้ารับการบำบัด

  • สระผมและทำความสะอาดร่างกาย ไม่ให้มีคราบมัน
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อ่อนเพลีย ท้องเสีย ไม่มีไข้ หรือไม่มีอาการของการติดเชื้อทางเดินหายใจเช่น มีน้ำมูก คัดจมูก หรือ ไอมีเสมหะ หรืออาการที่สงสัยว่าจะเป็นหวัด
  • งด น้ำอัดลม / เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ / บุหรี่
  • ผู้ป่วยเบาหวานควรมีระดับน้ำตาลในเลือด 120 -300 mg% ในกรณีที่ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ก่อนเข้ารับการบำบัด
  • รับประทานยาได้ตามปกติ สำหรับยาเบาหวาน ,ยาขับปัสสาวะ และยาระบาย ควรเลื่อนไปหลังการบำบัด
  • ยาฉีดเข้ากล้ามหรือใต้ผิวหนัง ควรฉีดก่อนเข้ารับการบำบัดมากกว่า 30 นาที
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาพ่นจมูกเพื่อช่วยให้สามารถปรับความดันในช่องหูชั้นกลางหรือไซนัส ขณะเข้ารับการบำบัด ควรพ่น 2 รอบ ห่างกัน 15 นาที ก่อนเข้ารับการบำบัด หรือ ตามพิจารณาจากแพทย์
  • ผู้ป่วยที่มีแผลควรได้รับการดูแลแผลให้เรียบร้อยก่อน
  • ควรถอดคอนแทคเลนส์ เพื่อป้องกันการบีบกดลูกตา
  • ฟันปลอมชนิดถอดได้ ให้ถอดออกเพื่อเลี่ยงภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ ในกรณีไม่พึงประสงค์

 

พญ. กุสุมา ชินอรุณชัย

ศูนย์ออกซิเจนบำบัด โรงพยาบาลธนบุรี

 

ออกซิเจนบำบัด


ศูนย์รักษาเฉพาะทาง