โรงพยาบาลธนบุรี

ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ เพื่อลดน้ำหนักรักษาโรคอ้วน

ผู้เขียน

เรียบเรียงโดย ผศ.นพ.วรบุตร ทวีรุจจนะ ศัลยแพทย์ชำนาญการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด

รักษาโรคอ้วน ลดน้ำหนัก ลดเสี่ยงโรคร้าย โดยการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดปัญหาโรคอ้วนพบได้บ่อยมากขึ้น เนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไป มีการรับประทานอาหารที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ออกกำลังกายกันน้อยลง ทำให้มีการสะสมของพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันในร่างกายเกินไป จนส่งผลทำให้เกิดภาวะโรคอ้วน โดยทั่วไปโรคอ้วนไม่ใช่เป็นปัญหาแค่เรื่องรูปลักษณ์ภายนอก แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายทำให้เกิดโรคประจำตัวต่างๆ ได้แก่ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง หยุดหายใจขณะหลับ เบาหวานชนิดที่2 มะเร็ง หลอดเลือดสมอง ข้อเข่าเสื่อม ถุงน้ำในรังไข่ และภาวะมีบุตรยาก เป็นต้น. ซึ่งโรคต่างๆเหล่านี้ส่งผลทำให้อายุขัยของผู้ป่วยสั้นลงเฉลี่ย 7-10 ปี และนอกจากนี้โรคอ้วนยังส่งผลต่องบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศไทยโดยเฉลี่ยสูงถึง 12,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นการรักษาโรคอ้วนจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ป่วยเองและประเทศชาติเป็นอย่างมาก

 

 

เมื่อไหร่ที่เรียกว่า โรคอ้วน? วิธีที่นิยมใช้ประเมินภาวะโรคอ้วนมากที่สุดคือ การวัดดัชนีมวลกาย(BMI : หน่วย kg/m2) สามารถคำนวณจากการนำ น้ำหนัก(kg) หารด้วยส่วนสูง(m) ยกกำลังสอง หากค่า BMI > 30 kg/m2 (สำหรับชาวตะวันตก) หรือ BMI > 25 kg/m2 (สำหรับชาวเอเชีย) เราจะถือว่ามีภาวะโรคอ้วน(Obesity)

 

การรักษาโรคอ้วน ทำได้โดยวิธีใดบ้าง? โดยทั่วไปการรักษาโรคอ้วนเริ่มจากการควบคุมการรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการใช้ยาลดน้ำหนักภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหากพยายามลดน้ำหนักโดยวิธีดังกล่าวเบื้องต้นอย่างเต็มที่แล้วไม่สามารถลดน้ำหนักได้ การรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อปรับขนาดกระเพาะอาหาร(Bariatric Surgery) เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดดังนี้.-

  • ผู้ป่วยที่มี BMI > 37.5 kg/m2 โดยไม่มีโรคประจำตัวใดๆ
  • หรือ BMI > 32.5 kg/m2 ร่วมกับมีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง หยุดหายใจขณะหลับ เบาหวานชนิดที่2 หลอดเลือดสมอง ข้อเข่าเสื่อม ถุงน้ำในรังไข่ และภาวะมีบุตรยาก เป็นต้น

 

การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร(Bariatric Surgery) คืออะไร? ปัจจุบันการผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหาร ที่นิยมทำกันมี 2 วิธี ได้แก่.-
1. การผ่าตัดแบบสลีฟ (Sleeve Gastrectomy)
2. การผ่าตัดแบบบายพาส (Roux-en-Y Gastric Bypass)

 

การผ่าตัดแบบสลีฟ (Sleeve Gastrectomy) เป็นการตัดกระเพาะอาหารออกไปบางส่วนทำให้กระเพาะอาหารมีรูปร่างคล้ายแขนเสื้อหรือรูปกล้วย จะเหลือปริมาตรประมาณ 100-200 ซีซี การผ่าตัดจะทำให้ทานอาหารได้น้อยลงและรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้มีความอยากอาหารลดลงภายหลังการผ่าตัด ด้วยกลไกต่างๆเบื้องต้นทำให้น้ำหนักลดลงในที่สุด
การผ่าตัดแบบบายพาส(Roux-en-Y Gastric Bypass) เป็นการผ่าตัดที่นอกจากมีการทำให้กระเพาะอาหารมีขนาดเล็กลงแล้ว(ขนาดกระเพาะอาหารจะเหลือประมาณ 30-50 ซีซี) ยังมีการทำให้การดูดซึมอาหารลดลงอีกด้วย ส่วนกลไกการลดน้ำหนักจะคล้ายๆกับการผ่าตัดแบบสลีฟดังที่กล่าวไว้เบื้องต้นแล้ว

 

การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ (Bariatric Surgery) ทำอย่างไร?

 

การผ่าตัดจะทำภายใต้การดมยาสลบ(General Anesthesia) ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวขณะผ่าตัด การผ่าตัดจะเป็นการผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเล็ก(Minimally Invasive Surgery : MIS) โดยข้อดีของการผ่าตัด MIS นี้จะทำให้ผู้ป่วยเจ็บแผลน้อย ฟื้นตัวเร็ว ผลแทรกซ้อนน้อยลง นอนโรงพยาบาลสั้นลง และกลับไปทำงานได้เร็วขึ้น  การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง นอนโรงพยาบาลภายหลังการผ่าตัดประมาณ 2 คืน ก็สามารถกลับบ้านได้

 

ทำไมต้องใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร? (Robotic Bariatric Surgery)

จากที่กล่าวไปเบื้องต้นว่าการผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery : MIS) โดยศัลยแพทย์ส่วนใหญ่นิยมผ่าตัดแบบส่องกล้องด้วยมือ (Laparoscopic Approach) ถึงแม้ว่าการผ่าตัดด้วย Laparoscopic Approach จะให้ประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างมาก แต่ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ อาทิเช่น ในผู้ป่วยที่น้ำหนักตัวมากๆ มีหน้าท้องหนา การผ่าตัดอาจจะใช้เวลานานมากกว่าปกติ ศัลยแพทย์ที่ผ่าตัดจำเป็นต้องออกแรงงัดสู้กับหน้าท้องที่หนายิ่งถ้าต้องใช้เวลาการผ่าตัดที่นานมากขึ้นก็อาจจะทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า นอกจากนี้ศัลยแพทย์ที่ทำการผ่าตัดส่องกล้องด้วยมือต้องอาศัยประสบการณ์ที่ค่อนข้างสูงกว่าจะชำนาญ เป็นต้น ด้วยข้อจำกัดที่ยกตัวอย่างมาเบื้องต้นจึงทำให้มีการสร้างหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด(Robotic Approach) จุดประสงค์เพื่อที่พัฒนาการผ่าตัดต่างๆ รวมทั้ง Bariatric Surgery ให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยกับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดลดความเหนื่อยล้าของศัลยแพทย์ได้อย่างมีนัยสำคัญ หุ่นยนต์ไม่มีความเหนื่อยล้าและหุ่นยนต์มีความนิ่งและแม่นยำสูงไม่ว่าการผ่าตัดนั้นจะนานแค่ไหน นอกจากนี้มีหลายการศึกษาที่สนับสนุนว่าศัลยแพทย์ที่ใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะมีความชำนาญที่เร็วกว่าการผ่าตัดส่องกล้องด้วยมือ ซึ่งการชำนาญที่เร็วขึ้นก็อาจจะลดผลแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 

 

ต้องเตรียมตัวก่อนผ่าตัดอย่างไรบ้าง?

 

ก่อนผ่าตัดต้องมีการตรวจร่างกายทุกระบบโดยละเอียด ได้แก่ ตรวจเลือด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอ็กซเรย์ทรวงอก อัลตร้าซาวด์ช่องท้อง และส่องกล้องดูกระเพาะอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้การตรวจสืบค้นเพิ่มเติมโดยละเอียดนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้ป่วย นอกจากนั้นผู้ป่วยควรจะพยายามลดน้ำหนักก่อนผ่าตัดให้ได้อย่างน้อย 5-10% ของน้ำหนักตัวก่อนผ่าตัด เพื่อทำให้การผ่าตัดง่าย ปลอดภัยมากขึ้น และผลการลดน้ำหนักออกมาดีภายหลังการผ่าตัด แนะนำให้ทานอาหารเหลวพลังงานน้อยก่อนการผ่าตัดประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้คุ้นชินกับอาหารเหลวที่ต้องรับประทานในช่วง 2 สัปดาห์แรกภายหลังการผ่าตัด

 

หลังผ่าตัดต้องทำอะไรบ้าง?

 

โดยปกติจะนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ  2 วัน หลังจากนั้นแพทย์จะนัดติดตามหลังการรักษาที่ 2-4 สัปดาห์ และทุก 3 เดือน ใน 1 ปีแรกภายหลังการผ่าตัด(หลังจากนั้นมาติดตามการรักษาปีละ 1-2 ครั้ง) เพื่อติดตามดูว่าน้ำหนักลดลงได้ดีหรือไม่ โรคประจำตัวต่างๆ ดีขึ้นหรือไม่ และเกิดผลแทรกซ้อนอะไรหรือไม่

 

อาหารที่รับประทานในช่วง 2 อาทิตย์ ก่อนและหลังการผ่าตัดจะเป็นรูปแบบอาหารเหลว ช่วง 2 สัปดาห์ถึง 3 เดือนจะเป็นรูปแบบอาหารอ่อน และ 3 เดือนขึ้นไปจะเป็นอาหารปกติแต่ปริมาณจะน้อยกว่าที่รับประทานปกติ นอกจากนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานวิตามินรวมตลอดชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีภายหลังการผ่าตัด อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤฒิกรรมการรับประทานอาหารให้ถูกต้องและเหมาะสม ตลอดจนการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่พึงกระทำอย่างต่อเนื่องภายหลังการผ่าตัดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักและสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์ผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โทร. 1645 กด 1 ต่อ 8040 , 8055

คลิก รับชมคลิป
ผ่าตัดรักษาโรคอ้วน ตอนที่ 1/2 https://www.youtube.com/watch?v=TNSyyj3ddFQ
ผ่าตัดรักษาโรคอ้วน ตอนที่ 2/2 https://www.youtube.com/watch?v=RjZk09At_SI&t=2s