คำแนะนำที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดทางนรีเวช
ประเภทของการผ่าตัด : ผ่าตัดมดลูก ผ่าตัดรังไข่ ผ่าตัดมดลูกและรังไข่ (บางรายร่วมกับการผ่าตัดไส้ติ่ง)
เวลาที่ใช้ในการผ่าตัด : ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนละสังเกตอาการที่ห้องพักฟื้นต่ออีกประมาณ 1-2 ชั่วโมง ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ จึงส่งผู้ป่วยกลับไปหอผู้ป่วย
สภาพหลังการผ่าตัด
- มีแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง
- มีสายน้ำเกลือที่แขนข้างใดข้างหนึ่ง บางรายอาจมีฉีดยาปฏิชีวนะทางสายน้ำเกลือ ประมาณ 1-2 วัน
- สวนคาสายปัสสาวะไว้ประมาณ 1-2 วัน (ยกเว้นในบางกรณีอาจคาสายไว้นานกว่านี้)
- อาการข้างเคียงหลังดมยาสลบ เช่น เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน เวียนศรีษะ
- อาการข้างเคียงหลังได้รับยาระงับความรู้สึก โดยฉีดยาชาบริเวณหลัง เช่น อาการคันตามร่างกาย ปวดศรีษะ คลื่นไส้อาเจียน ผู้ป่วยนอนราบ 12 ชั่วโมง
คำแนะนำก่อนผ่าตัด
การเตรียมตัวก่อนมาโรงพยาบาล
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง มีความพร้อมในการผ่าตัด
- พักผ่อนทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้แข็งแรง ไม่อ่อนเพลียก่อนผ่าตัด
- ก่อนผ่าตัด 1 วัน ควรทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำ ตัดเล็บไม่ทาเล็บ
- มา Admit ที่โรงพยาบาลก่อนเวลาผ่าตัดอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
- งดใส่เครื่องประดับมาโรงพยาบาล
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- งดน้ำงดอาหาร ประมาณ 6 ชั่วโมง ก่อนผ่าตัด หรือตามคำสั่งแพทย์โดยอาหารที่รับประทานก่อนงดควรเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย
- ถอดฟันปลอม เครื่องประดับหรือของมีค่าก่อนเข้าห้องผ่าตัด
- เตรียมผ่าตัดตามคำสั่งแพทย์โดยเจ้าหน้าที่ เช่น
- โกนขนบริเวณหน้าท้องและหัวหน่าว
- สวนล้างช่องคลอด
- สวนอุจจาระ
- สวนคาสายปัสสาวะ
- การใช้ยาก่อนผ่าตัด(ถ้ามี)
การปฏิบัติตัวเมื่อกลับจากห้องผ่าตัด
1. หายใจเข้าออกลึกๆ โดยทำจำนวน 5 ครั้งในทุกๆ 1 ชั่วโมง
วิธีการ
- นอนศรีษะสูงหรือลุกนั่ง งอเข่าเล็กน้อยยกเว้นในกรณี Block หลัง
- ใช้มือทั้ง 2 ข้าง วางหรือประสานกันบริเวณแผลหรือใช้หมอนวางบริเวณแผลทำให้ลดความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้น
- หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ ทางจมูก ค้างไว้ประมาณ 3 วินาที (นับ 1-2-3 ในใจ)
- ห่อริมฝีปากเหมือนจะผิวปาก แล้วผ่อนลมหายใจออกช้าๆ ยาวๆ
2. ไอแบบมีประสิทธิภาพ เพื่อเอาเสมหะออกจากลำคอ
วิธีการ
- หายใจเข้าออกลึกๆ ประมาณ 4 ครั้ง (ตามวิธีดังกล่าวข้างต้น)
- ครั้งที่ 4 หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้ประมาณ 3 วินาที (นับ 1-2-3 ในใจ)
- ใช้มือทั้ง 2 ข้างกดแผลก่อนไอ
- แล้วไออกมาจากส่วนลึกของลำคอ 1-2 ครั้ง เพื่อขับเสมหะที่คั่งค้างออกมา
3. หลังผ่าตัดสามารถพลิกตะแคงตัวได้ตามความต้องการและภายหลัง 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด พยาบาลแนะนำวิธีการลุกนั่ง/ลุกจากเตียงอย่างถูกวิธี โดย
- นอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่ง
- ใช้ข้อศอกข้างที่อยู่ด้านล่างยันกับพื้น
- แขนอีกข้างเกาะไหล่คนที่ช่วยพยุงหรือเหล็กกั้นเตียง
- แล้วยกตัวขึ้นในท่าตะแคง
4. งดน้ำงดอาหารจนกว่าจะมีคำสั่งแพทย์ให้เริ่มอาหาร โดยส่วนใหญ่ประมาณ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด โดยจะเริ่มที่อาหารเหลวแนะนำให้จิบน้ำอุ่นหรือน้ำข้าว น้ำซุปจำนวนน้อยๆก่อนแล้วจึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณให้มากขึ้นและเปลี่ยนเป็นอาหารอ่อนย่อยง่าย งดนม งดน้ำอัดลม เพราะจะทำให้ท้องอืดได้ และหลังรับประทานอาหารควรลุกนั่งหรือเดินอย่างน้อย 10-15 นาที เพื่อป้องกันภาวะท้องอืด
5. ภาวะหลังผ่าตัด อาจมีไข้ ท้องอืด หรือมีเลือดอออกทางช่องคลอดได้
6. ถ้ามีอาการผิดปกติอื่นๆ กรุณาแจ้งแพทย์ หรือพยาบาลที่ดูแลทราบ
คำแนะนำเมื่อกลับบ้าน
- การดูแลแผลผ่าตัด ถ้าเปิดพลาสเตอร์กันน้ำ ให้อาบน้ำได้ตามปกติโดยการตักอาบหรือฝักบัว ไม่ควรนอนแช่อ่างหรือแม่น้ำลำคลอง แต่ถ้าแผลไม่ได้ปิดพลาสเตอร์กันน้ำ ห้ามให้แผลโดนน้ำ
- ห้ามยกของหนักและห้ามขับรถ ประมาณ 1-2 เดือน
- งดการมีเพศสัมพันธ์หลังผ่าตัดประมาณ 6-8 สัปดาห์
- กรุณามาตรวจตามนัด แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น แผลอักเสบ บวมแดง ไข้สูง มีเลือดออกจำนวนมากหรือหนองออกจากช่องคลอด ให้รีบมาพบแพทย์ก่อนวันนัด
- สภาวะหลังผ่าตัดมดลูก และ/หรือรังไข่ทั้งสองข้างจะทำให้ไม่มีประจำเดือนไม่สามารถมีบุตรได้
- การผ่าตัดรังไข่ทั้งสองข้าง บางรายอาจมีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศรีษะ หงุดหงิด ใจสั่นได้ เนื่องจากร่างกายขาดฮอร์โมนเพศหญิง ถ้ามีอาการเหล่านี้สามารถรักษาได้โดยการให้ฮอร์โมนเพศหญิงเข้าไปทดแทน โดยแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำ
ศูนย์สูติ-นรีเวช