ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Neutropenia)
1. การรับประทานอาหาร รับประทานอาหารที่สะอาด ไม่มีเชื้อโรค (Low microbial diet)
อาหารที่ต้องห้ามสำหรับผู้ป่วย ได้แก่
- นม หรือ ผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ผ่านการ sterilized หรือ ที่ไม่ใช่นม UHT
- โยเกิร์ต ยาคูลท์ ไอศกรีมที่ไม่มียี่ห้อการันตีความสะอาด และสุก
- น้ำผักสด น้ำผลไม้สดที่ไม่ผ่านการ sterilized
- น้ำแข็งที่ทำจากน้ำประปา ที่ไม่ผ่านการต้ม หรือกรอง หรือน้ำที่มีสิ่งปนเปื้อน
- อาหารทุกชนิดที่ไม่ได้ปรุงให้สุก หรือ สุกๆ ดิบๆ เช่น ไข่ดาว ไข่ลวก น้ำสลัด ส้มตำ น้ำพริก และอาหารประเภทยำเป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการเติมเครื่องปรุงลงในอาหารที่ปรุงสุกแล้วเช่น พริกไทย พริกป่น ถั่วลิสง เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการซื้ออาหารปรุงสำเร็จตามร้านอาหารมารับประทาน
- หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกับบุคคลอื่น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานผักสดหรือผลไม้สด (ผลไม้สดที่อนุโลมให้รับประทานได้คือผลไม้ที่สามารถล้างภายนอกทั้งเปลือกให้สะอาดแล้ว ปอกเปลือกรับประทานทันที ได้แก่ส้มโอ ส้ม กล้วย เป็นต้น)
2. การป้องกันการติดเชื้อทางด้านทางเดินหายใจ
- ห้ามนำดอกไม้สด หรือ ต้นไม้เข้าห้องพักผู้ป่วย เพราะจะทำให้เชื้อโรคที่เจริญเติบโตได้ดีในดิน และน้ำ แพร่กระจายอยู่ในอากาศเป็นสาเหตุของการติดเชื้อสู่ผู้ป่วย
- จำกัดผู้เยี่ยมที่เสี่ยงต่อการทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อ
- ผู้เยี่ยมที่ต้องการสัมผัสผู้ป่วยต้องล้างมือและเช็ดให้แห้งหรือใช้ alcohol handrub ก่อนสัมผัสถูกต้องผู้ป่วย
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ กรณีหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ผู้ที่มีการติดเชื้อ ล้างมือให้สะอาด และสวม surgical mask โดยผู้ป่วยก็ต้องสวม surgical mask เช่นกัน
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนที่มีผู้คนจำนวนมาก เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ บาร์ ในลิฟต์ เนื่องจากอาจสัมผัสกับผู้ติดเชื้อทางเดินหายใจได้
- หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีฝุ่นมาก ๆ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการก่อสร้าง กรงเลี้ยงนก เลี้ยงไก่ เพราะเป็นแหล่งเชื้อโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อรา
3. ด้านการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล
- อาบน้ำด้วยสบู่อ่อนๆ อาจใช้สบู่เด็กวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
- รักษาความสะอาดปากฟัน โดยแปรงฟันด้วย แปรงสีฟันขนอ่อนนุ่ม ใช้ไหมขัดฟัน เพื่อป้องกันเหงือกอักเสบ (เกร็ดเลือดต้องมากกว่า 40,000) บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ ก่อนและภายใน 30 นาทีหลังอาหารทุกมื้อ และก่อนนอน
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอและเช็ดให้แห้ง ก่อนรับประทานอาหาร ก่อนเตรียมอาหาร หลังจากเข้าห้องน้ำห้องส้วม หลังจับต้องสัตว์หรือสัมผัสสิ่งปนเปื้อน เสมหะ อุจจาระ มูลสัตว์ เป็นต้น
- กรณีโกนหนวดหรือขนในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ให้ใช้เครื่องโกนไฟฟ้าเท่านั้น
- ตัดเล็บให้สั้น
- หลังขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระทุกครั้งทำความสะอาดและเช็ดให้แห้งโดยเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อบริเวณช่องคลอดหรือทางเดินปัสสาวะ
- ป้องกันไม่ให้ท้องผูก เพราะท้องผูกจะทำให้แบคทีเรียหมักหมมในลำไส้ และอุจจาระที่แข็งอาจทำให้ทวารหนักหรือลำไส้ส่วนล่างมีรอยถลอก ซึ่งจะทำให้แบคทีเรียเหล่านี้เข้าไปในกระแสเลือดได้
- ไม่แกะเกาผิวหนังหรือทำให้ผิวหนังเป็นแผล เพราะรอยแผลแตกตามผิวหนังจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
4. ด้านการออกกำลังกาย
- ออกกำลังกายทุกวัน (อาจใช้วิธี เดิน วิ่ง) ระยะเวลาขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคล
- ควรบริหารปอดเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ปอด
5. การนอนหลับพักผ่อน
- พักผ่อน 6-8 ชั่วโมง / วัน
6. การมีเพศสัมพันธ์
- ผู้ป่วยที่มีภาวะ Severe Neutropenia (ค่า ANC < 500 / mm3) ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์
- ผู้ป่วย Neutropenia ควรใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- เพื่อป้องกันการระคายเคืองอวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดแผลถลอกควรใช้ Gel หล่อลื่นขณะมีเพศสัมพันธ์
- ล้างทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ และเช็ดให้แห้งทุกครั้งหลังมีเพศสัมพันธ์
อาการผิดปกติที่ต้องรีบมาพบแพทย์
- มีไข้ หนาวสั่น (วัดอุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 38 องศา)
- ปวดท้อง ท้องเสียรุนแรง
- ปัสสาวะแสบขัด
- ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ
ศูนย์เนื้องอก และ เคมีบำบัด